
เรื่องราวของ 4 โมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน จากความร่วมมือในชุมชน
ชุมชนก็มีหัวใจ สิ่งแวดล้อมก็มีหัวใจ
เศรษฐกิจแบบหมุนเวียนจึงเป็นโมเดลที่ใช้ได้ในหลาย ๆ ชุมชน ที่ถึงแม้ว่าจะมีความหลากหลายทั้งพื้นที่ ผู้คน และทรัพยากร แต่ด้วยวิธีการเช่นนี้เอง ทำให้เกิดโมเดลธุรกิจ หรือความร่วมมือในชุมชนขึ้นมาหลากหลายรูปแบบ และยิ่งไปกว่านั้นคือเวิร์กสุด ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นชุมชนแปรรูปพลาสติกสู่ผ้ากาสาวพัสตร์ เหรียญดิจิทัลที่แลกได้ด้วยการแยกขยะ ตลาดกลางของธุรกิจรีไซเคิลที่กระจายไปทั่วประเทศ และแอปสั่งอาหารที่มุ่งกำจัด food waste จากแหล่งต่าง ๆ ทั่วกรุง
ติดตามเรื่องราวของ 4 โมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ในแคปชันของแต่ละภาพไปด้วยกัน
วัดจากแดง – วัดเล็ก ๆ ที่อยู่ในเกาะพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงการจัดการขยะในระดับชุมชน โดยมีพระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโรเป็นแกนนำในการนำพาชุมชนมาร่วมกันจัดการขยะทั้งขยะชีวภาพที่นำไปหมักเป็นปุ๋ย ขยะพลาสติกที่นำไปสู่การสร้าง product ใหม่ ๆ อย่างจีวรจากขวดพลาสติก จนกลายเป็นสถานที่หนึ่งที่หากสนใจเรื่องการจัดการขยะจะต้องแวะมาที่นี่ โดยกุญแจสำคัญคือ “เรื่องเล่า” ที่เกี่ยวข้องกับศาสนา กล่าวคือนำเรื่องของ “มฆมานพ” และเพื่อนบ้านอีก 32 คนที่นำชุมชนจัดการขยะจนไปเกิดเป็นพระอินทร์และเทวดารุ่นแรกบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในที่สุด
visit: https://maps.app.goo.gl/WCinWVu7P77FWzh86
ตัดภาพมาที่ใจกลางเมืองอย่าง “อารีย์” ย่านสุดชิคที่มีทั้งออฟฟิศ บ้านคน และคอมมูนิตี้ไลฟ์สไตล์ แน่นอนว่าต้องมีขยะมหาศาล “AriAround” แพลตฟอร์มจากคนในชุมชนเพื่อให้ชาวอารีย์รู้จักย่านบ้านตัวเองให้ดีขึ้น รวมถึงการจัดการขยะเปิดตัวขึ้น โดยมีกิมมิคสำคัญคือ โทเค็นดิจิทัลในสกุลเงินของชาวอารีย์เอง ที่แลกมาได้ด้วยการนำขยะมาให้ผู้จัดการแพลตฟอร์มเพื่อแลกคอยน์นี้ไป รวมถึงขยายผลไปสู่การแลกเปลี่ยนทรัพยากรต่าง ๆ ในชุมชนเพื่อความยั่งยืน
visit app: https://www.ariaround.com/
นอกเหนือจากแอปพลิเคชันเพื่อการเรียนรู้และรัก(ษ์)บ้านเกิดแล้ว การจัดการขยะยังมีแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่เข้ามาช่วยจัดการขยะแบบครบวงจร อย่าง “Green2Get” ที่เริ่มต้นจากเพจดัง “ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป” ที่ให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะบนโลกออนไลน์ จนพบว่ามีคำถามจากทางบ้านมากมาย นำมาสู่การสร้างแพลตฟอร์มที่ทำให้ผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้ที่รีไซเคิลขยะได้มาเจอกัน ตอบโจทย์ว่าแยกขยะอย่างไร คัดแยกแล้วไปไหนต่อ แล้วเกิดประโยชน์อย่างไรบ้าง โดยนับขยายผลจนตอนนี้มีแนวร่วมทั่วประเทศ และมุ่งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการขยะอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน
visit platform: https://green2get.com/en/
และในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยอดการสั่งซื้อในแอปสั่งอาหารพุ่งทะยานขึ้นสุด ๆ แน่นอนว่าปัญหาที่ตามมาในทุก ๆ ออร์เดอร์ก็คือ Food Waste และขยะที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นตามบรรจุภัณฑ์และการห่อ (ซึ่งบางทีก็แอบคิดเหมือนกันว่าขยะจะเยอะไปไหมน้า) แอปพลิเคชันสั่งอาหารทางเลือกจึงเกิดขึ้นเพื่อกำจัด Food Waste ตั้งแต่ต้นทาง เช่น “Yindii” แอปพลิเคชันที่นำอาหารที่ขายไม่หมด ไม่ว่าจะมาจากร้านอาหาร โรงแรม หรือซูเปอร์มาร์เก็ต มาลดราคากว่าครึ่ง คุ้มทั้งผู้ซื้อที่ได้อาหารราคาย่อมเยา และผู้ขายที่ต้องการให้สินค้าหมดอย่างรวดเร็ว และยังมีแพลตฟอร์มอื่น ๆ อีกที่เข้ามามีส่วนช่วยแก้ปัญหา food waste ด้วย
visit platform: https://www.yindii.co/